3.3.พันธะโคเวเลนต์

      พันธะ มากจากคำว่า Bond ซึ่งหมายถึง แรงยึดเหนี่ยว ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอมด้วยกัน และยังรวมถึงแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลด้วยกันให้เป็นกลุ่มก้อน ดังนั้น เราจึงสามารถแบ่งแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคของสารทางเคมีออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอม (ภายในโมเลกุล) ได้แก่ พันธะไอออนิก พันธะโคเวเลนต์และ พันธะโลหะ
  2. แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล ได้แก่ พันธะไฮโดรเจน และแรงแวนเดอร์วาลส์
     พันธะเคมีที่เป็นแรงยึดเหนี่ยวภายในโมเลกุล ซึ่งประกอบด้วย พันธะไอออนิก พันธะโคเวเลนต์ และ พันธะโลหะ มาทำความรู้จักกับพันธะแต่ละชนิดกันเลยครับ
พันธะตัวแรกของเราได้แก่
พันธะไอออนิก (IONIC BOND)
     เป็นพันธะที่เกิดจากแรงกระทำระหว่างอะตอม 2 อะตอมที่มีประจุต่างกัน โดยจะเกิดการแลกเปลี่ยนอิเล็กตรอน ทำให้เกิดแรงดึงดูดทางไฟฟ้าสถิตระหว่างประจุที่ต่างกัน พันธะไอออนิกจะเกิดระหว่างโลหะรวมตัวกับอโลหะ และเกิดขึ้นระหว่างธาตุที่มีค่า EN ต่างกันมาก
2ionic
ตัวอย่างการเกิดพันธะไอออนิก
     เราจะมาทำความรู้จักกับพันธะไอออนิกมากขึ้นหลังจากเรียนพันธะโคเวเลนต์จบแล้วครับ
พันธะโลหะ (METALLIC BOND)
     คือ แรงดึงดูดระหว่างไอออนบวกกับเวเลนซ์อิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่รอบๆก้อนโลหะ เกิดจากอะตอมของโลหะใช้เวเลนซ์อิเล็กตรอนร่วมกัน เวเลนซ์อิเล็กตรอนสามารถเคลื่อนที่ไปทุกอะตอมได้ทั่งทั้งก้อนโลหะ
fba2965c626a450042effd6174b49257d3b3a69f
ตัวอย่างการเกิดพันธะโลหะ
     เราจะมาทำความรู้จักกับพันธะไอออนิกมากขึ้นหลังจากเรียนพันธะไอออนิกจบแล้วครับ
พันธะโคเวเลนต์ (COVALENT BOND)
     คือ พันธะที่เกิดจากการที่อะตอมใช้เวเลนซ์อิเล็กตรอนร่วมกันเป็นคู่ๆ เพื่อให้เวเลนซ์อิเล็กตรอนครบแปดตัวตามกฎออกเตต (Octet rule)
covalent_bonding
ตัวอย่างการเกิดพันธะโคเวเลนต์
การเกิดพันธะโคเวเลนต์
     นิวเคลียสของอะตอมทั้งสองจะต้องเข้ามาอยู่ใกล้กันในระยะที่เหมาะสม เพื่อทำให้แรงดึงดูดทั้งหมดของระบบเท่ากับแรงผลักทำให้อยู่ในภาวะสมดุลกัน รวมทั้งมีการใช้อิเล็กตรอนร่วมกันเกิดเป็นโมเลกุล เรียกว่า เกิดพันธะโคเวเลนต์
ตัวอย่างการเกิดโมเลกุลของไฮโดรเจน
C9F11
นักเรียนคงจะสงสัยว่ากฎออกเตตคืออะไร มาดูกันเลย ^ ^
กฎออกเตต (OCTET RULE)
     The octet rule – อะตอมใดๆ มีแนวโน้มที่จะสร้างพันธะจำนวนหนึ่งเพื่อให้อะตอมมีเวเลนซ์อิเล็กตรอนครบแปดตัว อะตอมที่มีเวเลนซ์อิเล็กตรอนครบแปดตัว มีการจัดเรียงอิเล็กตรอนเหมือนแก๊สเฉื่อยในหมู่ 8A จะมีความเสถียรมาก (ยกเว้น H และ He ตามกฎออกเตตจะมีวาเลนซ์อิเล็กตรอนครบสอง)
ข้อยกเว้นของกฎออกเตต
     โมเลกุลโคเวเลนต์ จะมีการจัดเรียงอิเล็กตรอน เป็นไปตามกฎออกเตต ซึ่งทำให้สารประกอบอยู่ในสภาพที่เสถียร แต่อย่างไรก็ตามพบว่าสารประกอบบางชนิดมีการจัดเรียงอิเล็กตรอนไม่เป็นไปตามกฎออกเตต จัดเป็นข้อยกเว้นสำหรับกฎออกเตต
     (ก) พวกที่ไม่ครบออกเตต ได้แก่สารประกอบของธาตุในคาบที่ 2 ของตารางธาตุ เช่น Be, B  สามารถสร้างพันธะแล้วทำให้อิเล็กตรอนน้อยกว่าแปด เช่น  BF3  BCl3  BeCl2 และ BeF2  เป็นต้น
     (ข) พวกที่เกินออกเตต ได้แก่ สารประกอบของธาตุที่อยู่ในคาบที่ 3 ของตารางธาตุเป็นต้นไป สามารถสร้างพันธะแล้วทำให้อิเล็กตรอนเกินแปด เช่น PCl5 SF6 เป็นต้น
ลักษะการเกิดพันธะโคเวเลนต์
  1. การสร้างพันธะระหว่างอะตอมชนิดเดียวกัน เกิดเป็นโมเลกุลของธาตุ เช่น H2, O2, O3, S8
  2. การสร้างพันธะระหว่างอะตอมต่างชนิดกัน เกิดเป็นโมเลกุลของสารประกอบ เช่น HCl, H2O, NH3
  • อิเล็กตรอนที่ใชในการเกิดพันธะ 1 พันธะ (2e) เรียกว่า  อิเล็กตรอนคูพันธะ (bonded pair)
  • คูอิเล็กตรอน (2e) ที่ไมไดใชในการเกิดพันธะ เรียกว่า อิเล็กตรอนคูโดดเดี่ยว (lone pair)
  • อิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่ เรียกว่า อิเล็กตรอนเดี่ยว (single electron)
ลักษณะสำคัญของพันธะโคเวเลนต์
     ส่วนมากเป็นธาตุอโลหะกับอโลหะเนื่องจากธาตุอโลหะมีพลังงานไอออไนเซซันค่อนข้างสูง จึงเสียอิเล็กตรอนได้ยาก มีแต่ใช้อิเล็กตรอนร่วมกันเกิดเป็นพันธะโคเวเลนต์
  1. เป็นพันธะที่เกิดจากอะตอมของธาตุที่มีค่า EN สูงยึดกับ EN สูงด้วยกัน
  2. เป็นพันธะที่เกิดจากอะตอมของ
อโลหะกับอโลหะ   เช่น CO2    NH3
กึ่งโลหะกับอโลหะ  เช่น  SiO2  GeCl4
ชนิดของพันธะโคเวเลนต์
     พิจารณาจากจำนวนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกันของอะตอมคู่ร่วมพันธะ ดังนี้
พันธะเดี่ยว (SINGLE BOND)
     เกิดจากอะตอมคู่สร้างพันธะทั้งสอง ใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 1 คู่ ใช้เส้นตรง 1 เส้น แทนพันธะเดี่ยว
พันธะคู่ (DOUBLE BOND)
     เกิดจากอะตอมคู่สร้างพันธะทั้งสอง ใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 2 คู่ ใช้เส้นตรง 2 เส้น แทนพันธะคู่
พันธะสาม (TRIPLE BOND)
     เกิดจากอะตอมคู่สร้างพันธะทั้งสอง ใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 3 คู่ ใช้เส้นตรง 3 เส้น แทนพันธะสาม
 ตัวอย่าง ชนิดของพันธะโคเวเลนต์ โดยพิจารณาจากจำนวนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกันของอะตอมคู่ร่วมพันธะ
Bonds
พันธะโคออร์ดิเนตโคเวเลนต์ (CO-ORDINATE  COVALENT  BOND)
     คือ พันธะโคเวเลนต์ที่เกิดขึ้นโดยอะตอมหนึ่งเป็นตัวให้คู่อิเล็กตรอนเพื่อเกิดพันธะ ซึ่งมักเกิดกับโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวเหลือ และเมื่อใช้ไปแล้วก็มีจำนวนอิเล็กตรอนวงนอกไม่เกิน 8
     ตัวอย่างเช่น แอมโมเนียมไออน (NH4+)  ซึ่งเกิดจาก   H+  + NH3  ได้ผลิตภัณฑ์เปฺ็น NH4+ โดย N เป็นฝ่ายให้คู่อิเล็กตรอนกับ H ในการสร้างพันธะ ดังรูป
coordinate covalent bonding
การเขียนสูตรโครงสร้างโมเลกุลโควาเลนต์
  • สูตรโครงสร้างแบบจุด (ELECTRON-DOT STRUCTURE)
     หรือเรียกว่าโครงสร้างลิวอิส (Lewis  structure)  เป็นการสร้างพันธะโดยการนำเอาเวเลนซ์อิเล็กตรอนมาใช้ร่วมกัน  การให้หรือ/และรับอิเล็กตรอนของอะตอมทั้งสองอะตอมให้เป็นไปตาม   “กฎออกเตต (octet  rule)”  โดยแสดงเวเลนซ์อิเล็กตรอนเป็นจุด
  • สูตรโครงสร้างแบบเส้น (GRAPHIC STRUCTURE)
    • ใช้เส้นตรง 1 เส้น ( — ) แทนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกัน 1 คู่
    • ใช้เส้นตรง 2 เส้น ( = ) แทนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกัน  2  คู่
    • ใช้เส้นตรง 3 เส้น แทนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกัน 3 คู่
    • ให้เขียนไว้ในระหว่างสัญลักษณ์ของธาตุคู่ร่วมพันธะ
    • อิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวที่เหลืออาจเขียนโดยใช้จุดแทน หรือไม่เขียนเลยก็ได้
วิธีเขียนสูตรโครงสร้าง
  • เขียนอะตอมทั้งหมดที่เกิดพันธะกันให้อยู่ใกล้กัน กรณีที่มีอะตอม 3 ตัว  อะตอมที่จะต้องอยู่ตำแหน่งกลาง  คือ อะตอมที่มีค่า EN ต่ำ
  • หาจำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนทั้งหมด นำอิเล็กตรอนที่มีอยู่ไปเขียนรอบอะตอมต่างๆ โดยใช้จุดแทนเวเลนซ์อิเล็กตรอนรอบอะตอมเป็นคู่ ๆ โดยจัดให้แต่ละอะตอม มีจำนวนอิเล็กตรอนล้อมรอบครบ 8 ตัว (ยกเว้น H=2, Be=4, B=6)
    • ไอออนลบ: เพิ่มจำนวนอิเล็กตรอนเท่ากับจำนวนประจุลบของไอออน
    • ไอออนบวก: ลบจำนวนอิเล็กตรอนเท่ากับจำนวนประจุบวกของไอออน
  • เชื่อมอะตอมด้วยพันธะเดี่ยว โดยใช้ 2 อิเล็กตรอนในการสร้างพันธะเดี่ยวแต่ละพันธะ
  • ในกรณีที่ใช้เวเลนซ์อิเล็กตรอนจนหมดแล้วแต่อะตอมยังไม่ครบ 8 ตัว อาจต้องมีพันธะคู่ หรือพันธะสามเกิดขึ้นด้วย
ตัวอย่างการเขียนสูตรโครงสร้างแบบจุดและแบบเส้น
b
lewis-dot-structure
 เรโซแนนซ์ (RESONANCE)
     หมายถึง การใช้สูตรโครงสร้างแบบจุดของลิวอิสตั้งแต่ 2 โครงสร้างขึ้นไปแทนโมเลกุลใดโมเลกุลหนึ่งโดย โครงสร้างเรโซแนนซ์ (Resonance structure) คือ สูตรโครงสร้างของสารที่สามารถเขียนได้มากกว่า  1  แบบ ซึ่งแต่ละสูตรที่เขียนขึ้นมาจะไม่สอดคล้องกับสูตรโครงสร้างที่แท้จริง การจะเป็นโครงสร้างเรโซแนนซ์ได้สารต้องมีการจัดเรียงตัวของอะตอมเหมือนกัน ต่างเพียงการกระจายอิเล็กตรอนในพันธะเท่านั้น
resonance_str03
ตัวอย่างการเกิดเรโซแนนซ์ของคาร์บอเนตไอออน
หลักในการตัดสินว่าโครงสร้างเรโซแนนซ์ แบบใด ควรเป็นไปได้มากที่สุดมีหลักในการตัดสินดังนี้คือ
  1. มีประจุฟอร์มาลต่ำสุด
  2. อะตอมที่มี En สูงกว่ามักมีประจุฟอร์มาลเป็นลบ เนื่องจากมีความสามารถดึงดูดอิเล็กตรอนมากกว่า (แต่ไม่เสมอไป)
  3. อะตอมชนิดเดียวกันจะไม่มีประจุฟอร์มาลที่มีเครื่องหมายตรงข้าม (มีเครื่องหมายตรงข้ามได้ แต่ความน่าจะเป็นสำหรับโครงสร้างนั้นๆ จะลดลง)
  4. เป็นไปตามกฎออกเตตมากที่สุด
ประจุฟอร์มาลคืออะไร
ประจุฟอร์มาล (FORMAL CHARGE)
          เป็นประจุไฟฟ้าสมมติที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ทำนายว่าโครงสร้างโมเลกุลแบบใดมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน (เนื่องจากโครงสร้างที่เกิดเรโซแนนซ์ ทำให้สารชนิดเดียวกันมีโครงสร้างได้หลายแบบ ดังนั้น โครงสร้างแบบใดจะเป็นไปได้มากที่สุดจะดูที่ประจุฟอร์มาล)
การคำนวณประจุฟอร์มาลบนอะตอมหนึ่งๆ ทำได้ดังนี้
ประจุฟอร์มาล    =   V – N – 1/2B
เมื่อ   V = จำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนของอะตอมที่สนใจ
N = จำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนที่ไม่สร้างพันธะ (non-bonding electron)
B = จำนวนอิเล็กตรอนทั้งหมดในพันธะรอบอะตอมนั้น
หรือ
ประจุฟอร์มาล    =   V – N – B
เมื่อ   V = จำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนของอะตอมที่สนใจ
N = จำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนที่ไม่สร้างพันธะ (non-bonding electron)
B = จำนวนพันธะทั้งหมดรอบอะตอมนั้น
**หมายเหตุ: ทั้งสองสูตร ตัวแปร “B” ใช้ต่างกันนะครับ เวลาคำนวณให้เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่งตามที่ตนเองถนัด อย่าเอามาปนกันนะครับ
การเขียนสูตรโมเลกุลของสารประกอบโคเวเลนต์
  1. เรียงลำดับธาตุให้ถูกต้องตามหลักสากล ดังนี้คือ Si , C , Sb , As , P , N , H , Te , Se , S , At , I , Br , Cl , O , F ตามลำดับ
  2. ถ้าจำนวนอะตอมของธาตุมากกว่าหนึ่ง ให้เขียนจำนวนอะตอมด้วยตัวเลขแสดงไว้มุมล่างขวา (อะตอมเดียวไม่ต้องเขียน)
  3. หลักการเขียนสูตรสารประกอบโคเวเลนต์ ใช้จำนวนอิเล็กตรอนที่แต่ละอะตอมของธาตุที่ต้องการตามกฎออกเตตคูณไขว้
การเรียกชื่อสารประกอบโคเวเลนต์
  1. อ่านชื่อธาตุข้างหน้าก่อน แล้วตามด้วยธาตุที่อยู่ข้างหลังเปลี่ยนพยางค์ท้ายเป็น – ide
ตัวอย่างการอ่านธาตุที่อยู่หลัง เช่น
Cl  ให้เรียก  คลอไรด์      O  เรียก  ออกไซด์
N   ให้เรียก ไนไตรด์       F เรียก   ฟลูออไรด์
C    ให้เรียก คาร์ไบด์     Br เรียก โบร์ไมด์
S     ให้เรียก ซัลไฟด์      P   เรียก ฟอสไฟด์
  1. ระบุจำนวนอะตอมของธาตุด้วยตัวเลขในภาษากรีก ดังนี้
1 = มอนอ        2 = ได
3 = ไตร           4 = เตตระ
5 = เพนตะ       6 = เฮกซะ
7 = เฮปตะ       8 = ออกตะ
9 = โนนะ         10 = เดคะ
  1. ถ้าธาตุแรกมีอะตอมเดียวไม่ต้องระบุจำนวนอะตอมแต่ธาตุข้างหลังต้องระบุจำนวนอะตอมเสมอแม้มีเพียงอะตอมเดียว (ระบุโดยใช้ภาษากรีก)
ตัวอย่างการอ่านสื่อสารประกอบโคเวเลนต์
CO      อ่านว่า  คาร์บอนมอนอออกไซด์   หรือ คาร์บอนมอนอกไซด์
CO2     อ่านว่า  คาร์บอนไดออกไซด์
NO      อ่านว่า  ไนโตรเจนมอนอออกไซด์ หรือ ไนโตรเจนมอนอกไซด์
N2O     อ่านว่า  ไดไนโตรเจนมอนอออกไซด์ หรือ ไดไนโตรเจนมอนอกไซด์
N2O3   อ่านว่า  ไดไนโตรเจนไตรออกไซด์
N2O5   อ่านว่า  ไดไนโตรเจนเพนตะออกไซด์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผลตรวจชี้! “คิม จองนัม” ถูกสังหารด้วยสารเคมีทำลายประสาท “วีเอ็กซ์”

ผลตรวจชี้! “คิม จองนัม” ถูกสังหารด้วยสารเคมีทำลายประสาท “วีเอ็กซ์” สารเคมีที่ใช้ลอบสังหาร " คิม จองนัม "​ พี่ชายต่างมารด...